วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 1
ความหมายของปรัชญาและปรัชญาศาสนา
“ปรัชญา/ปรัชญาศาสนาเป็นอะไร?”


1. ความหมายของปรัชญา : Philosophy is not “MAMA… Tom Yum Gung”
but is “Meaning of Being”

1.1 ความหมายของปรัชญา : ปรัชญา คือ โลกทรรศน์เกี่ยวกับภาวะที่มีอยู่ (Being) ในบริบทของสังคม
แม้ว่านิยามของคำ “Philosophy” ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า “ปรัชญา” อาจจะยังไม่สรุปเป็นสูตรสำเร็จรูปที่ทำให้นักปรัชญาทุกท่านลงมติเอกฉันท์ว่าปรัชญา หมายถึงอะไรกันแน่ เหมือนกับนักวิชาการในหลายสาขาวิชาที่ระบุนิยามได้เป็นมติสากล แต่กระนั้นบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน ต่างมีแนวโน้มตรงกันว่า “ปรัชญา คือ วิทยาการค้นหาว่าอะไรเป็นความแท้จริง” (Ultimate Reality) (สมัคร บุราวาศ, 2544: 2) ด้วยการใช้สติปัญญาของมนุษย์ตามหลักเหตุ-ผลเพื่อบรรลุถึงความแท้จริงดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็นสามแขนงใหญ่ คือ อะไรคือความจริง (อภิปรัชญา) รู้ความจริงได้อย่างไร (ญาณวิทยา) และเอาอะไรมาตัดสินคุณค่า (คุณวิทยา)
แหล่งกำเนิดของความคิดทางปรัชญา แบ่งออกได้เป็นสองแหล่งใหญ่ คือ ปรัชญาตะวันตกและ ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาสองสายนี้ได้ไหลผ่านกาลเวลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเวลาหลายพันปี มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาทุกยุคสมัย จากอดีต ปัจจุบันและอนาคต ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงดำรงอยู่ในโลก ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมุ่งศึกษาในประเด็นที่สังคมในยุคต่าง ๆ ให้ความสนใจความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2) เป็นการเปิดตัวเองของมนุษย์เพื่อศึกษาโลกทรรศน์เกี่ยวกับภาวะที่มีอยู่ (Being) ตามบริบทของสังคมตามหลักเหตุ-ผล โดยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของปรัชญาตะวันตกและตะวันออก ได้แก่


1.1.1 ปรัชญาตะวันตก...จากความเป็นจริงสู่ความจริง
ปรัชญาตะวันตก มีร่องรอยว่าก่อกำเนิดในดินแดนกรีกโบราณ (ก.ค.ศ. 1500) ปรากฏชื่อ “เทเลส” (Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิชาวกรีก ซึ่งนักวิชาการสาขาวิชาปรัชญาให้การยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตก ท่านกำหนดกรอบในการอธิบายความเป็นจริง (Reality) ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับปฐมธาตุที่เป็นพื้นฐานให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ (อะไรคือปฐมธาตุ) โดยวิเคราะห์ได้สองประเด็นสำคัญคือ “อะไรเป็นสิ่งเที่ยงแท้” และ “จะอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร” (Stumpf, 1989: 4) การกำหนดกรอบคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบตามหลักเหตุ-ผลของเทเลส มีผลทำให้สานุศิษย์และผู้สนใจแสวงหาความเป็นจริง พยายามหาคำตอบในกรอบดังกล่าวที่เทเลสได้วางพื้นฐานและอธิบายคำตอบไว้ ทั้งนี้แบ่งประเด็นความคิดที่นักปรัชญาตะวันตกสนใจได้สองประเด็นใหญ่ ๆ คือ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง (Reality) หรือทฤษฏีทางอภิปรัชญา (ได้แก่ นักปรัชญายุคกรีกโบราณจนถึงนักปรัชญายุคกลาง, ก.ค.ศ. 600 – ค.ศ. 1500) และปัญหาเกี่ยวกับความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา (ได้แก่ นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่เป็นต้นมา, ค.ศ. 1600 - 1800) (Hick, 1974: 200)
1.1.2 ปรัชญาตะวันออก...วิถีชีวิตสู่ความเป็นจริง
สองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่อดีตในซีกโลกตะวันออก (ทวีปเอเชีย) ได้แก่ อินเดียและจีน ถือเป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาตะวันออก (ปรัชญาตะวันออก) นักปรัชญาตะวันออกสนใจความเป็นจริงเช่นเดียวกับนักปรัชญาตะวันตก แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของปรัชญาตะวันออก คือ ความสนใจต่อความเป็นจริงเพื่อการปฏิบัติตนมุ่งสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริง นี่เองที่ผู้ศึกษาปรัชญาจึงมีความคิดว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) เป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น มีการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยลักษณะดังกล่าวนี้ “ปรัชญากับศาสนาของอินเดียจึงมักไปด้วยกันเสมอ” (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2)
1.2 คุณลักษณะของปัญหาเรื่องความจริงตามแนวปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก
แม้ว่าทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกจะมีอัตลักษณ์เฉพาะของตน อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นักปรัชญาตะวันตกและตะวันออกสนใจ เพื่อแยกแยะว่าอะไรเป็นความจริง (The truth) อะไรเป็นความเท็จ (The falsity) ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างยืนยันว่ากระบวนการหาความจริงของมนุษย์มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากสัตว์ทั่วไป เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา ดังนั้น การรู้ความจริงของมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นการรู้ตัว (รู้ว่าตนรู้) หรือที่นักปรัชญาตะวันตกมักใช้คำว่า “ความสำนึกรู้” (Consciousness) หรือ “การตระหนักรู้” (Awareness) อันเป็นลักษณะพื้นฐานของกระบวนการรู้ความจริงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมีลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับจุดเน้นของตน กล่าวคือ
1.2.1 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย
คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฏีความรู้ (ปัญหาเรื่องความจริง) ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัย ดังที่ สุนทร ณ รังษี (2521: 2) ได้วิเคราะห์ลักษณะของปรัชญาตะวันตกเรื่องการแสวงหาความจริง (ทฤษฏีทางญาณวิทยา) ไว้น่าสนใจว่า “ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว” และ “ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือแยกเป็นคนละส่วนกับศาสนา” เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตก (ส่วนใหญ่) จึงดำเนินชีวิตไปในทางที่ตรงข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ นั่นหมายความว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตก คือ การมุ่งสู่การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง แม้ว่าความจริงนั้นจะไม่ได้ช่วยให้บรรลุถึงความเป็นจริงเลยก็ตาม หมายความว่า นักปรัชญาตะวันตกมีแนวโน้มในการศึกษาความจริงในประเด็นที่ตนสงสัย เมื่อได้แนวคำตอบที่ถูกใจ (แม้ไม่ถูกใจทั้งหมด) ก็หยุดเพียงแค่นั้น นักปรัชญาตะวันตกไม่พยายามนำแนวคำตอบที่ตนได้รับมาพัฒนาเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ เพราะถือว่าศาสนากับปรัชญาเป็นคนละส่วนที่แยกจากกัน
1.2.2 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันออก คือ การรู้ความจริงเพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง
แม้ว่าลักษณะแนวคิดของปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) จะมุ่งปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงและการรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) แต่จุดเน้นของปรัชญาตะวันออกมีลักษณะพิเศษต่างจากปรัชญาตะวันตก กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) สนใจปัญหาความเป็นจริง และรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) เพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง ดังที่ สนั่น ไชยานุกูล (2519) ได้วิเคราะห์ปรัชญาอินเดียว่ามีจุดเน้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและการพัฒนาจิตใจ “ทุก ๆ ลัทธิถือว่าปรัชญานั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต และทุก ๆ ลัทธิเพาะปลูกปรัชญาขึ้นมาก็เพื่อให้เราเข้าใจ เราควรจะดำเนินชีวิตของเราให้ดีที่สุดได้อย่างไร” และ “ปรัชญานั้นใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนเราได้อย่างไร” (สนั่น, 2519: 21-22) กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) มีลักษณะเป็น “คำสอนให้ปฏิบัติ” ปรัชญาอินเดียไม่ใช่เน้นความรู้อย่างเดียว หากเพื่อส่งเสริมให้รู้เพื่อนำไปปฏิบัติ เน้นหลักปฏิบัติ เพราะจุดหมายสูงสุดของปรัชญาคือ การรู้แจ้งตน (Self-realization) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย)มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตนั่นเอง
1.3 ประเภทของวิชาปรัชญา

โดยทั่วไปมีการแบ่งวิชาปรัชญาออกเป็นสองประเภท คือ ปรัชญาบริสุทธิ์ (Pure philosophy) กับปรัชญาประยุกต์ (Applied philosophy) (Mariano, 1990)

1.3.1 ปรัชญาบริสุทธิ์

หมายถึง การศึกษาปรัชญาที่เป็นเนื้อหาสาระของปรัชญาโดยตรง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการอื่น ๆ ทั้งนี้ โลกตะวันตกแบ่งปรัชญาออกเป็นสามสาขาใหญ่ ๆ (ยึดเนื้อหา/ปัญหาพื้นฐาน เป็นหลัก) โดยการมุ่งตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง (ในขณะที่ ปรัชญาตะวันออก ไม่มีการแบ่งย่อย) ได้แก่

ก. อภิปรัชญา (Metaphysics) อะไรคือความจริง?
ข. ญาณวิทยา (Espistemology) เรารู้ความจริงได้อย่างไร?
ค. คุณวิทยา/อัคฆวิทยา (Axiology) ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า โดยแยกได้สองประเภท คือ
1) จริยศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินการกระทำว่าดีหรือไม่)
2) สุนทรียศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินความงาม)

จึงมีการศึกษาแนวความคิดของนักปรัชญาโดยแบ่งเป็นยุคต่าง ๆ ขึ้นกับว่าในยุคสมัยนั้น ๆ “ประเด็นร้อน” หรือความสนใจของประชาชนในสมัยนั้น อยู่ที่ปัญหาเรื่องอะไร (ความจริง ความรู้ คุณค่า) ดังนั้น จึงต้องศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาเพื่อศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ตามหลักเหตุผล” ของแต่ละยุคสมัย

1.3.2 ปรัชญาประยุกต์

หมายถึงการนำปรัชญาบริสุทธิ์ไปประยุกต์ใช้ตอบปัญหาโดยยึดการตอบสนองความปรารถนาที่จะรู้ของมนุษย์ ที่ปรารถนารู้ “หลักการ” เพื่อนำไปปฏิบัติ หรือปรารถนาที่จะรู้ “พื้นฐาน” เพื่อนำไปเป็นแนวทางตอบปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ได้แก่

ก. ปรัชญาศาสนา
ข. ปรัชญาสังคมการเมือง
ค. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ง. ปรัชญาการศึกษา
จ. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ฉ. ปรัชญากฎหมาย (นิติปรัชญา)
ช. เป็นต้น

1.4 แนวทางการศึกษาวิชาปรัชญา

ปรัชญาเป็นศาสตร์ของการมุ่งสู่ความจริงในด้านคุณค่าและความหมาย อาศัยเหตุผล เน้นการตั้งคำถามเชิงปรัชญา (What/Why to be) เพื่อหาคำตอบ หรือเน้นการตั้งคำถามมากกว่าการพอใจในคำตอบที่ได้รับ โดย

1.4.1 การศึกษาวิชาปรัชญาเริ่มต้นด้วยการศึกษาแนวคิด (ประเด็นที่สังคมสมัยนั้นๆ สนใจ ทั้งด้านคำถามและคำตอบ) ของนักปรัชญาในอดีต (Dilley, 1964) เช่น การทำความเข้าใจแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818 – 1883) อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724 – 1804) เดวิด ฮิวม์ (David Hume, ค.ศ. 1711 – 1776) นักบุญโทมัส อาไควนัส (St. Thoman Aquinas, ค.ศ. 1225 – 1274) อริสโตเติ้ล (Aristotle, ราวปี 384 – 322 ก่อน ค.ศ.) ขงจื้อ (Confucius, ราวปี 551 – 478 ก่อน ค.ศ.) หรือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (Buddha, ราวปี 543 – 463 ก่อน ค.ศ.) เพื่อเป็นพื้นฐาน

1.4.2 จากข้อ 1.4.1 อันเป็นพื้นฐาน สู่การสร้างหลัก/แนวทาง/ปรัชญาชีวิตของผู้ศึกษาปรัชญา

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าไม่มีปรัชญาที่เป็นสูตรสำเร็จรูป “ปรัชญาไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ... ต้มยำกุ้ง” ปรัชญา ไม่มีคำตอบตายตัวแบบ 1+1 เท่ากับ 2 นอกจากนั้น ปรัชญาไม่สนใจคำถามหรือคำตอบ “ในรายระเอียดปลีกย่อย” เช่น ทำอย่างไรจึงทำให้ดูเหมือนพระเอก/นางเอกหนังเกาหลี หรือ ทำอย่างไรจึงไปดวงจันทร์ได้ ฯลฯ แต่ ปรัชญาสนใจคำถามที่เป็นส่วนลึกในจิตใจมนุษย์ เรามาจากไหน เราเป็นใคร เราจะไปไหนสู่การบรรลุถึงความสมบูรณ์แท้จริงของชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการศึกษาวิชาปรัชญา จะเริ่มต้นและให้ความสำคัญต่อการศึกษาแนวคิด/ระบบความคิดของนักปรัชญาในอดีต เนื่องจากเราตระหนักถึงคุณค่าของประสบการณ์ในอดีต ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องสู่ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมายในอนาคต อันเป็นคุณค่าและความหมายของชีวิต แนวความคิด/คำตอบในอดีตของนักปรัชญาเกี่ยวกับความจริง ความรู้ ความงาม ความดี นำสู่ “คำตอบของเราแต่ละคน” หรือที่เรียกว่า “ปรัชญาชีวิต” นั่นเอง


2. ความหมายของ “ปรัชญาศาสนา”

จากการนำเสนอความหมายของปรัชญาและศาสนาเป็นพื้นฐาน สู่การทำความเข้าใจต่อการศึกษาวิชา “ปรัชญาศาสนา” ดังนี้

2.1 ข้อพึงระมัดระวังก่อนการศึกษาวิชาปรัชญาศาสนา
2.1.1 อย่าคิดว่าปรัชญา หรือศาสนา หรือ วิทยาศาสตร์ ใครใหญ่
กว่ากัน
2.1.2 อย่าจำกัดกรอบของศาสนา เพียงแค่ระดับของปรัชญา หรือ
วิทยาศาสตร์
2.1.3 อย่าจำกัดกรอบของปรัชญา ว่ามีไว้รับใช้ศาสนาใดศาสนา
หนึ่ง
2.1.4 อย่านำแต่ละศาสนาไปเปรียบเทียบว่าของใครดีกว่ากัน
2.1.5 อย่ารังเกียจบางศาสนา เพราะการดำเนินชีวิตของศาสนิกชน
บางคน
2.1.6 และข้อพึงระวังมากที่สุด อย่าคิดว่า “เรารู้ดีแล้ว ในศาสนา
ของตน” และคิดว่า “มีแต่ศาสนาของเรา..ที่เป็นศาสนา”

2.2 ปรัชญาศาสนาคืออะไร
2.2.1 ปรัชญาศาสนา ไม่ใช่...
ก. ปรัชญาและศาสนา (Philosophy and Religion) ที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกัน
ข. ปรัชญาเพื่อศาสนา (Philosophy for Religion) ที่ปรัชญามีไว้เพื่อรับใช้และอธิบายแต่เพียงความเป็นจริงของศาสนา
ค. ปรัชญาและเทววิทยา (Philosophy and Theology) ที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างเอาชนะซึ่งกันและกัน และโจมตีความจริง/วิธีการได้มาซึ่งความจริงที่แต่ละฝ่ายนำเสนอ โดยเฉพาะการอธิบายเรื่องพระเจ้า/การปฏิเสธพระเจ้า
ง. ปรัชญาเพื่อเทววิทยา (Philosophy for Theology) ที่ปรัชญามีไว้เพื่อสนับสนุนแนวคิดทางเทววิทยาเท่านั้น
จ. ปรัชญาของเทววิทยา (Philosophy of Theology) ที่ปรัชญาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดทางเทววิทยา ปรัชญาศาสนา “ไม่ได้เป็นสาขาหนึ่งของเทววิทยา” (William, 1976: 56)

2.2.2 ปรัชญาศาสนาเป็น...
ปรัชญา คือ การศึกษาภาวะที่มีอยู่ (Being) ทุกสิ่งที่มีอยู่เป็นเนื้อหาของปรัชญา ศาสนาคือ ภาวะที่มีอยู่ ดังนั้น ปรัชญาศาสนา หมายถึง การศึกษาคุณค่าและความหมายของศาสนา ในฐานะที่ศาสนาเป็น “ภาวะที่มีอยู่” (Being) (The meaning of Religion as Religion is being.) ปรัชญาศาสนาจึงเป็น

ก. การอธิบายศาสนาในฐานะที่เป็น “ภาวะที่มีอยู่”

ศาสนา เป็นปรากฎการณ์และจัดว่าเป็นสถาบันหนึ่งของสังคมที่รวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันในความเชื่อและหลักปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนา ศาสนาจึงเป็นภาวะที่มีอยู่อย่างหนึ่งที่อยู่ในเนื้อหาของปรัชญาว่า “ศาสนาเป็นอะไร?” การอธิบายศาสนาในฐานะที่ศาสนาเป็นภาวะที่มีอยู่นี้ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ยุคโบราณ ที่มนุษย์ใช้สติปัญญา “อธิบายหรือป้องกันความเชื่อศรัทธา” (William, 1976: 49) ซึ่งเราเห็นชัดเจนในแนวคิดปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดียโบราณ ) ซึ่งมีลักษณะเป็นปรัชญาศาสนา (Muller cited in William, 1976) และในปรัชญาตะวันตกยุคกลาง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปรัชญาศาสนาโดยตรง (โดยเฉพาะการนำปรัชญามาอธิบายศาสนาคริสต์ และอิสลาม)



ข. การตั้งคำถามและพยายามตอบปัญหาเกี่ยวกับศาสนา

ปรัชญาศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาปรัชญา ที่ “นำแนวคิดเชิงปรัชญามาอธิบายมโนภาพต่างๆ ของศาสนา ถ้อยแถลงของนักคิดเชิงศาสนา และปรากฎการณ์ของประสบการณ์เชิงศาสนา” (William, 1976: 56) ด้วยการตั้งคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับศาสนา และใช้เหตุผลเพื่อตอบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับความจริงในศาสนา

ค. ปรัชญาศาสนาอธิบายศาสนาว่า “เป็น” มากกว่าข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ปรากฎ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาสนาจะเป็นปรากฎการณ์ที่จัดว่าเป็นสถาบันสำคัญอย่างหนึ่งในสังคม แต่สิ่งที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของปรัชญา คือ การพิจารณาภาวะที่มีอยู่ (Being) ด้วยการพิจารณาความเป็นจริงที่เป็นจริงๆ ซึ่งเป็นมากกว่าข้อเท็จจริง (Fact) ที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่ปรากฏออกมา (Appearance) เท่านั้น สิ่งที่ปรัชญาสนใจ ตั้งคำถามและตอบปัญหาเกี่ยวกับศาสนา คือ คุณค่าและความหมายของศาสนาซึ่งไม่ได้อยู่เพียงแค่ระดับประสาทสัมผัส หรือรับรู้/พิสูจน์ได้เพียงแค่วิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

3. สรุปประจำบท

ปรัชญาศาสนา เป็นปรัชญาประยุกต์ (Applied philosophy) สาขาหนึ่ง ที่นำแนวคิดทางปรัชญามาศึกษาและอธิบายคุณค่า ความหมายของศาสนา เน้นการตั้งคำถามเชิงศาสนาและพยายามหาคำตอบด้วยหลักการของปรัชญา อันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับศาสนา หรือเหตุผลกับความเชื่อ โดยมีพื้นฐานบนความเข้าใจว่า มนุษย์ตระหนักถึงชีวิตของตนว่ามีคุณค่าและความหมาย มีความปรารถนาและมีศักยภาพที่จะบรรลุถึงความเป็นจริงสูงสุด (ความรอดพ้น/เป้าหมายชีวิต) มนุษย์จึงพยายามแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตที่ตนตัดสินใจเลือก และรับผิดชอบด้วยการทุ่มเทชีวิตสู่เป้าหมาย อันเป็นคุณค่าและความหมายแท้จริงของชีวิต